วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557

การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์


การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์

                  หลังจากนักศึกษา ตกลงใจจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือได้หัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์อย่างแน่นอนแล้ว สิ่งที่กระทำต่อไปของกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ คือ การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เพื่อเสนอคณะกรรมการเค้าโครงวิทยานิพนธ์หรือกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์พิจารณาอนุมัติ ซึ่งการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ถือว่าเป็นงานก้าวแรกที่จะนำไปสู่การทำวิทยานิพนธ์  ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของวิทยานิพนธ์  จึงขึ้นอยู่กับเค้าโครงวิทยานิพนธ์  การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์เป็นสิ่งที่ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไป  สิ่งที่สำคัญอยู่ที่นักศึกษาเอง  เพราะเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์จึงเป็นผู้รู้มากที่สุด  ก่อนการเรียบเรียงเค้าโครงวิทยานิพนธ์  ขั้นตอนแรก  ศึกษารูปแบบการเขียนวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันของตนเองว่ามีรูปแบบใด   มีลักษณะอย่างไร  มีการพิมพ์วิทยานิพนธ์อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นักศึกษาต้องทำเป็นอันแรกและมีความสำคัญ   ขั้นตอนที่สองเตรียมข้อมูล เนื้อหาที่จะเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์  ซึ่งข้อมูลมาจากการศึกษา เอกสาร  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   บทความ งานวิจัยจากฐานข้อมูลและอินเทอร์เน็ตและมีการเก็บรวบรวมข้อมูลพร้อมอ้างเจ้าของเนื้อหาหรือบทความนั้นไว้  แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นความเรียงเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์  โดยปกติแล้วข้อมูลที่นำมาเขียนหรืออ้างอิงไม่ควรเกิน 10 ย้อนหลังนับจากปัจจุบัน  แต่ถ้าหากจำเป็นจริงว่าหัวข้อเรื่องที่นักศึกษาทำ  ไม่มีนักวิชาการเขียนหรือผลิตตำรามากนัก  ก็สามารถนำมาอ้างอิงได้เช่นเดียวกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นฉบับของเนื้อหานั้นด้วย  ขั้นตอนที่สาม ดำเนินการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์
              การศึกษาเอกสารและงานวิจัยเกี่ยวข้องจากตำรา วารสาร  บทความหรืองานวิจัยจากฐานข้อมูล  อินเทอร์เน็ต ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกัน  การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์จะประสบความสำเร็จและมีคุณภาพนั้น  นักศึกษาจะต้องศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  เพราะการเขียนได้ต้องมีการศึกษา หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของตนเอง  เช่น  นักศึกษา จะทำวิทยานิพนธ์เรื่อง แนวทางพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning)  สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย  ข้อมูลต้องค้นคว้า คือ ความสำคัญของการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ สถานภาพในปัจจุบันเกี่ยวกับการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์  การเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning)  คืออะไร การจัดการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์  ข้อมูลที่ได้จะนำมาเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ยิ่งนักศึกษาค้นคว้าข้อมูลมากเท่าใด การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ยิ่งง่ายเท่านั้น  การค้นคว้าข้อมูลอาจจะมาจาก  เอกสาร  บทความ อินเทอร์เน็ต  ตำราวิชาการ  ฐานข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ  
              ก่อนเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์มักจะได้ยินคำถามเกี่ยวกับการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ว่า   เค้าโครงเขียนอย่างไร  มีหลักการเขียนอย่าง  มีรูปแบบอย่างไร   เขียนเค้าโครงอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ  เขียนอย่างไรจะได้เค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง  มีความผิดพลาดน้อยที่สุด ซึ่งคำถามเหล่านี้จะได้ยินประจำ  ดังนั้นในบทนี้จะกล่าวถึงส่วนประกอบการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์   

   
ส่วนประกอบของเค้าโครงวิทยานิพนธ์

              ก่อนลงมือเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การศึกษารูปแบบหรือส่วนประกอบของเค้าโครงวิทยานิพนธ์  ซึ่งรูปแบบและส่วนประกอบของเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของแต่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันแตกต่างกัน แต่ส่วนประกอบย่อยของโครงเค้าวิทยานิพนธ์จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน   นักศึกษาควรศึกษาและทำเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อความถูกต้องในการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ และส่วนประกอบของเค้าโครงวิทยานิพนธ์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

            1.  ส่วนประกอบตอนต้น  ประกอบด้วย

             1.1 ปกนอก

            1.2  สารบัญ

             1.3  สารบัญตาราง  (ถ้ามี)

                           1.4  สารบัญภาพประกอบ  (ถ้ามี)

            2.  ส่วนเนื้อเรื่อง  ประกอบด้วยเนื้อหา  3 บท  ได้แก่

            2.1  บทที่ 1 บทนำ  ประกอบด้วยหัวข้อย่อย  ดังนี้

                1)  ภูมิหลังหรือความสำคัญของปัญหา 

                2) ความมุ่งหมายของการวิจัย

                3)  ความสำคัญของการวิจัย 

                4)  กรอบแนวคิดของการวิจัย (ถ้ามี)

                5)  สมมติฐานของการวิจัย(ถ้ามี)

                6) ขอบเขตของการวิจัย 

                7) ข้อตกลงเบื้องต้น(ถ้ามี) 

                8)  นิยามศัพท์เฉพาะ

            2.2  บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ประกอบด้วย

                1)  คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์

                2)  แนวคิด  หลักการ ทฤษฏี ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องวิทยานิพนธ์

                3)  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์

            2.3  บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย ประกอบด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้

                1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 

                2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 

                3)  การสร้างและหาคุณภาพเครื่องที่ใช้ในการวิจัย 

                4) วิธีดำเนินการทดลอง(ถ้ามี)

                5)  การเก็บรวบรวมข้อมูล 

                6)  การวิเคราะห์ข้อมูล

                7)  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

            3.  ส่วนประกอบตอนท้าย   ประกอบด้วย  บรรณานุกรม

              สำหรับการเข้าเล่มเค้าโครงวิทยาวิทยานิพนธ์ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการวิทยานิพนธ์และการเรียงลำดับเนื้อหา นักศึกษา  สามารถดำเนินการเรียงเอกสารที่พิมพ์ตามลำดับหัวข้อของส่วนประกอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ได้เลย

 การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์

          หลังจากนักศึกษาศึกษาและทราบส่วนประกอบของเค้าโครงวิทยานิพนธ์แล้ว  สิ่งที่กระทำและดำเนินการขั้นตอนต่อไปคือการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์  โดยหลักเกณฑ์การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์  มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้
       1. ปกเค้าโครงวิทยานิพนธ์   
                        รูปแบบอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถาบันหรือมหาวิทยาลัยกำหนด   โดยทั่วไปจะประกอบด้วย  ตรามหาวิทยาลัยหรือสถาบัน  ชื่อเรื่องภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ   ชื่อผู้วิจัย  สาขา   ปริญญา  ปีการศึกษา  รุ่น  ประธานกรรมการ  กรรมการ ส่วนการจัดวางรูปแบบปกเค้าโครงปกวิทยานิพนธ์นั้นขึ้นอยู่รูปแบบของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันกำหนดซึ่งไม่เหมือนกัน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างรูปแบบการเขียนปกเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ดังตัวอย่าง

 
เค้าโครงวิทยานิพนธ์

 

ผู้วิจัย          นางอุบล  โคตา                                                          คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์

ปริญญา      ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต                               รศ. ณรงค์  ป้อมบุปผา     ประธานกรรมการ

สาขาวิชา    บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์       อาจารย์เฉลิมศักดิ์ ชุปวา   กรรมการ

รุ่น  ปท.  23  มหาสารคาม   ปีการศึกษา  2545

_______________________________________________________________________

ชื่อเรื่อง    แนวโน้มการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้า

              ศึกษาโดยเทคนิคเดลฟาย

Trend of Amphur, s  public  Libraries operation in the next decade           by  using  the  Delphi technique
           

 

                   2.  สารบัญ  สารบัญตาราง  สารบัญภาพประกอบ  เค้าโครงวิทยานิพนธ์ 

                        เป็นส่วนที่รวบรวมหัวข้อเรื่องและหัวข้อย่อยแต่ละบท ชื่อของตาราง  ชื่อภาพประกอบ   จัดเรียงตามลำดับที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์  พร้อมทั้งมีเลขหน้าที่เริ่มบทตอน  ตารางและภาพประกอบนั้น ๆ  กำกับเอาไว้ เพื่อช่วยให้ความสะดวกรวดเร็วในการสืบค้น   ดังตัวอย่าง

 

 

สารบัญ

 

บทที่                                                                                                                                            หน้า

 

    1    บทนำ  .....................................................………………..………………………..…            1

              ภูมิหลัง  ................................................……………...………………………… 1

              ความมุ่งหมายของการวิจัย  ..............................………...………………………..  4

              สมมติฐานของการวิจัย  ...................................…………...…………………..…  4

              ความสำคัญของการวิจัย  ..................................………...……………………….   5

              ขอบเขตของการวิจัย  ....................................…………...…………………….… 5

               นิยามศัพท์เฉพาะ    ..............................…………………...…………………….. 6

 

    2    เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ....................................……………...……………..  8

              การจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์  ..................................................................     8

              งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ………………………….…………………………………      59

                  

    3    วิธีดำเนินการวิจัย  .........................…..............………………….…….…………… 66

              ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  ………………………………….…………………    66

              เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  …………………………………...…….……………    66

              การสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในวิจัย  ….……………………………..      67

              การเก็บรวบรวมข้อมูล  ………………..……………………………………….     75

              การวิเคราะห์ข้อมูล  .............................................................................................   80

              สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  .........................................................................   85

     บรรณานุกรม  ..............................................................................................................  100

 

 
สารบัญตาราง

 

ตาราง                                                                                                                                      หน้า

 

            1     เนื้อหาและเวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์  ชั้นประถมศึกษาปีที่  6  เรื่อง  เส้นขนาน  .... 67

      2    วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา  ความคิดรวบยอดและจุดประสงค์

                  เชิงพฤติกรรมเรื่อง  เส้นขนาน    .......................................................................    74

      3    กำหนดจำนวนข้อสอบที่ต้องการให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้

                  และเนื้อหาเรื่อง  เส้นขนาน  ชั้นประถมศึกษาปีที่  6    .....................................          67

 

 

สารบัญภาพประกอบ

 

ภาพประกอบ                                                                                                            หน้า

      1    แผนภูมิโครงสร้างของคณิตศาสตร์   ........................................................................       1

      2    ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค  TGT  ....................................................      29

      3    แผนภูมิการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคทีจีที  (TGT)  ................................     33

      4    แผนภูมิการจัดกิจกรรมแบบทีจีที  (TGT)  ...............................................................     34

      5    แผนภูมิการจัดกิจกรรมแบบ  TGT    .......................................................................     35

      6    ผู้สอนกำหนดผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม   ละ  เท่ากับจำนวนหัวข้อเรื่องที่จะศึกษา  ......       36

 

              โดยทั่วไปแล้วการเขียนสารบัญ  สารบัญตารางและสารบัญภาพประกอบ จะเขียนได้ก็ต่อเมื่อนักศึกษาเขียนส่วนประกอบเนื้อหากล่าว คือ บทที่ 1 ถึงบทที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว  เพราะรายละเอียดในสารบัญจะเป็นหัวข้อย่อยในเนื้อหาแต่ละบทนั้นเอง ซึ่งจะบอกเลขหน้าหัวย่อยที่ปรากฏอยู่  ส่วนรูปแบบการเขียน เช่น  การเคาะ  การวรรค  นั้นให้เขียนตามรูปแบบของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันของนักศึกษานั้นกำหนด  เพื่อสะดวกในการจัดรูปแบบวิทยานิพนธ์ต่อไป

 
                   3.  การเขียนส่วนเนื้อเรื่อง (ส่วนแรก)

                        สำหรับส่วนประกอบด้านเนื้อหาถือเป็นส่วนสำคัญที่นักศึกษา ต้องศึกษาวิธีการเขียนการเรียบเรียงให้ดีและถูกต้อง  เพราะส่วนนี้คือหัวใจสำคัญของเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ในงานวิจัยเชิงปริมาณส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วย 3 บทด้วยกัน ส่วนงานวิจัยเชิงคุณภาพอาจจะมี 3-5 บท ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่ประเภทของงานวิจัยด้วย

            3.1  การเขียนบทที่  1 บทนำ   
                           ถือว่าเป็นส่วนแรกที่สำคัญ เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่บ่งบอกเหตุผล หลักการว่าวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาทำมีความสำคัญ  มีปัญหาอย่าไร ถึงจะทำเรื่องนี้ เป็นการบ่งชี้ความสำคัญ  ชี้ปัญหาที่ชัดเจนในการทำ  บทนำประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ  ดังนี้   ภูมิหลัง   ความมุ่งหมายของการวิจัย  หรือความสำคัญของการวิจัย  กรอบแนวคิดของการวิจัย* ขอบเขตของการวิจัย สมมุติฐานของการวิจัย * ข้อตกลงเบื้องต้น* และนิยามศัพท์เฉพาะ*   และแต่ละหัวข้อย่อยมีหลักในการเขียนดังนี้

                             3.1.1  การเขียนภูมิหลัง  โดยภูมิหลังจะทำหน้าที่แนะนำให้ผู้อ่านงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาให้รู้ความเป็นมา หลักการ  เหตุผล  ความสำคัญและปัญหาของวิทยานิพนธ์หรือเป็นการตอบคำถามว่า ทำไมนักศึกษาจึงทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้    การเขียนภูมิหลังอาจเรียกได้ว่าเป็นงานยากสุดในกระบวนการเรียบเรียงวิทยานิพนธ์  จึงไม่เป็นแปลกที่ นักศึกษาส่วนใหญ่จะกังวลเมื่อเริ่มลงมือเขียนภูมิหลัง บางคนไม่มีประสบการณ์ในการเขียนงานวิชาการมาก่อน จึงจับต้นชนปลายไม่ถูกและไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  บางทีอาจเสียเวลามาก จนถึงเกินความเบื่อหน่ายได้ ดังนั้นภูมิหลังมีหลักในการเขียนดังนี้
                     1)  ภูมิหลังโดยทั่วไปมีประมาณ  3-5 หน้า  และมีย่อหน้าไม่เกิน  7 ย่อหน้า เพราะการเขียนภูมิหลังเป็นการเขียนความเรียงแบบต่อเนื่องเรื่องเดียวกัน  ยิ่งมีย่อหน้ามากเท่าไรจะเป็นภูมิหลังตัดปะ กล่าวคือ  การนำบทความของงานเขียนของนักวิชาการมาเขียนต่อกัน ทำให้อ่านแล้วไม่ได้ใจความสำคัญว่ากล่าวถึงเรื่องใด
                     2)   ความสอดคล้องกับชื่อเรื่อง   การเขียนภูมิหลังต้องมีความสอดคล้องกับชื่อเรื่องที่ทำ  ข้อบกพร่องที่พบส่วนใหญ่  นักศึกษามักจะยกเอาเรื่องที่ล้าสมัยมาเขียนและไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมาอ้าง  ดังนั้นการเขียนต้องมีความสอดคล้องกับชื่อเรื่องโดยเริ่มตั้งแต่ย่อหน้าแรกถึงย่อหน้าสุดท้าย  เช่น  ศึกษาเรื่อง แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์  (e-Learning) สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย  เนื้อเรื่องหรือคำกล่าวที่เขียนในภูมิหลังต้องเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning) หัวข้อจะนำเขียนภูมิหลังคือ  หลักการ ความสำคัญหรือเหตุผลและปัญหาของการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning) ในสถาบันอุดมศึกษา  รวมถึงสภาพปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นการนำเอาคำกล่าวของคนอื่นมาเขียนควรเป็นปัจจุบันมากที่สุด ไม่กล่าวหรือเรียบเรียงห่างจากชื่อเรื่องมากเกินไป ควรสั้น กะทัดรัด ตรงตามชื่อเรื่องมากที่สุด โดยเมื่ออ่านภูมิหลังจบต้องรู้ทันทีว่ากำลังจะศึกษาเรื่องดังกล่าวมาข้างตน และย่อหน้าสุดท้ายผู้ทำวิทยานิพนธ์จะสรุปว่าจากหลักการและเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องดังกล่าว และกล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับหลังจากการทำวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้นแล้วประมาณ 2-3 บรรทัด
                     3)  ชี้ปัญหา ความสำคัญชัดเจนและชี้ถึงแนวโน้มในอนาคต   ข้อบกพร่องที่พบในภูมิหลัง  พบว่า นักศึกษาเขียนปัญหาไม่ชัดเจนในการวิจัยคืออะไร  เหตุใดผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาเรื่องนั้น  ดังนั้นการเขียนภูมิหลังต้องชี้ปัญหาและความสำคัญชัดเจน  เช่น ศึกษาเรื่อง การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้จากบทเรียนบนระบบเครือข่ายรายวิชาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีรูปแบบการเรียน(Learning Style) ต่างกัน  การเขียนภูมิหลังต้องกล่าวถึงความสำคัญหรือปัญหาในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร  มีความสำคัญอย่างไรถึงศึกษาเรื่องนี้มีจุดเด่นหรือดีกว่าการเรียนแบบปกติอย่างไร  แบบเรียนแบบต่าง ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร ซึ่งปัญหาและความสำคัญมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทฤษฏีและบทความวิชาการ ความเคลื่อนไหวทางการวิจัยที่ตนศึกษา  แต่อย่างไรก็ตามการยกข้อความหรือคำกล่าวของคนอื่น มาเขียนควรมีการวิเคราะห์หรือเลือกให้เหมาะสมกับชื่อเรื่องของเรา เพราะบางครั้งคำกล่าวที่ยกมาอาจจะตรงกับปัญหาหรือความสำคัญเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่เกี่ยวข้องเลย และอีกประการหนึ่งการเขียนภูมิหลัง ไม่ควรนำเอาความคิดเห็นส่วนตัวที่พบหรือเหตุการณ์ที่จะมีผลต่อการทำวิจัย
                     4)  ใช้กรอบแนวคิดของผู้วิจัย  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ภูมิหลังที่เขียนต้องอยู่ในกรอบของการวิจัย  เฉพาะจงเจาะเรื่องที่ศึกษาหรือวิจัยอย่างชัดเจน เพราะกรอบแนวคิดในการวิจัยจะประกอบด้วยตัวแปรและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ซึ่งนักศึกษาจะได้แนวทางในการเขียนภูมิหลังที่ง่ายขึ้นและทิศทาง  มีความสัมพันธ์ของเรื่องที่เขียนสอดคล้องกันตามลำดับ และมีความเป็นเหตุเป็นผลในการเขียนภูมิหลังด้วย
                     5)  ใช้ภาษา ถูกต้อง  ต่อเนื่อง  ประการสุดท้ายที่มีสำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากวิทยานิพนธ์เป็นผลงานวิชาการ  การเขียนต้องใช้ภาษาเขียนที่มีถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไม่ควรใช้ภาษาพูดในการเขียนภูมิหลังวิทยานิพนธ์   ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบการใช้ภาษาที่ผิด  เช่น  ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป  ประโยคที่เขียนถูกต้อง คือ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป  ดังนั้นการใช้ภาษาที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญและภูมิหลังนั้นการเขียนควรมีความต่อเนื่องทั้งการเชื่อมคำไม่ควรใช้คำว่าและ หรือ  ก็  ซึ่ง ในการเชื่อมประโยคมากเกินไปและที่สำคัญระหว่างย่อหน้าและย่อหน้าถัดไปต้องมีความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวถึงเรื่องที่ศึกษาอย่างชัดเจนตั้งแต่ย่อหน้าแรกถึงย่อหน้าสุดท้าย
                     ที่มาของเนื้อหาภูมิหลัง   ปัญหาที่นักศึกษาคิดไม่ออกประการหนึ่ง แล้วจะเอาเนื้อหา  สาระ อะไรนำมาเขียนในภูมิหลัง  เพื่อให้ภูมิหลังมีความชัดเจน ตรงประเด็นที่ศึกษามากที่สุด แหล่งของเนื้อหาที่จะมาสนับสนุนการเขียนภูมิหลัง ได้แก่ 
1.       สภาพปัญหา อดีต ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต  นักศึกษาพยายามหาข้อมูล หลักฐานมาเสนอให้ผู้อ่านเห็นว่า  หัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่จะศึกษา วิจัย ในปัจจุบันเป็นปัญหา อุปสรรค อย่างไร ต้องหาทางแก้ไขหรือขจัดปัญหาดังกล่าว
2.        แนวคิด ทฤษฏีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  นักศึกษาต้องพยายามหาแนวคิด ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ ว่าเป็นอย่างไร คิดเลือก สังเคราะห์แนวคิด ทฤษฏีที่น่าเชื่อถือ เป็นปัจจุบัน  และสอดคล้องกับหัวข้อเรื่องมาเสนอ
3.       ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  นักศึกษาจะต้องเสนอผลงานวิจัยคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่ศึกษา วิจัย สรุป ชี้ประเด็นให้เห็นว่า ที่ผ่านมีใครวิจัยไว้บ้างแล้ว  ทำในลักษณะใด ศึกษากับใครและได้ผลอย่างไร
           จากข้อมูลทั้งหมด นักศึกษาสรุปต่อท้าย สัก 2-3 บรรทัด ชี้ให้เห็นว่า หัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่ทำยังไม่มีคำตอบและสามารถจะหาคำตอบได้ และคำตอบที่ได้จะเป็นประโยชน์อย่างไร

                        ข้อบกพร่องที่พบในภูมิหลัง
1.    การอธิบายหลักการสำคัญที่ไกลจากปัญหาวิจัยมาก และมีการเอกสาร
แหล่งค้นที่ไม่ค่อยสำคัญมากนัก
2.    มักยกคำกล่าวอ้างของนักการศึกษาดัง ๆ ของประเทศที่ปรากฏตาม
หนังสือพิมพ์หรือเอกสารต่าง ๆ ข้อความเหล่านี้จริง ๆ แล้ว เป็นเพียงความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งไม่มีความหนักแน่น
                                   3.    ไม่สามารถหาเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมจึงต้องการศึกษาในประเด็นวิจัยนั้น
  ส่วนใหญ่จะระบุว่า ผู้วิจัยสนใจจะศึกษา …….  และลงท้ายด้วยประโยคที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาประเด็นนี้อีกประมาณ 1 – 2 ประโยค
                     การเขียนภูมิหลังไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ที่สำคัญภูมิหลังต้องมีความชัดเจน  สั้นกะทัดรัดได้ใจความสำคัญ  ชี้ถึงปัญหาและความสำคัญอย่างชัดเจน อยู่ในกรอบแนวคิดของการวิจัย ใช้ภาษาถูกต้อง ต่อเนื่อง และที่สำคัญสอดคล้องกับชื่อเรื่องที่ นักศึกษาทำ  ซึ่งการเขียนภูมิหลังให้ดี ต้องเกิดจาการการศึกษาค้นคว้า  การอ่าน  การศึกษาที่เป็นปัจจุบันและเข้าใจปัญหาเรื่องที่ศึกษาอย่างอย่างชัดแจ้ง
                 3.1.2  การเขียนวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย  ในเค้าโครงวิทยานิพนธ์นักศึกษามักจะเขียนจุดมุ่งหมายไม่ครอบคลุมและไม่ชัดเจน รวมถึงตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากขาดความแตกฉานในเรื่องที่ศึกษา ไม่เข้าใจกรอบแนวคิดในการวิจัยอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นการเขียนจุดมุ่งหมายของวิจัยมีหลักในการเขียนดังนี้
                     1)  การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัย จะตั้งเป็นข้อหรือไม่เป็นข้อก็ได้ ทั้งขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการศึกษาหรือประเภทของงานวิจัย ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ จะตั้งเป็นข้อ ๆ  และงานวิจัยเชิงคุณภาพส่วนใหญ่จะไม่แยกข้อ
                     2)  จุดมุ่งหมายของการวิจัย  มาจากชื่อเรื่องและตัวแปรของการวิจัย  เอามาตั้งเป็นจุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวอย่างเช่น
                          2.1)  ศึกษาเรื่อง  แนวโน้มการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้าโดยใช้เทคนิคเดลฟาย(อุบล โคตา : 2545) ความมุ่งหมายของการวิจัย คือ เพื่อศึกษาแนวโน้มการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้าโดยใช้เทคนิคเดลฟาย
                          2.2)  ศึกษาเรื่อง เจตคติและความเครียดของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี (พนารัตน์         ขุราษี : 2547)ความมุ่งหมายของการวิจัย คือ
                               -  เพื่อศึกษาเจตคติของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (มาจากชื่อเรื่อง)
                               -  เพื่อศึกษาระดับความเครียดของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(มาจากชื่อเรื่อง)
                               - เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของข้าราชการครูต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร  ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (ตัวแปร)
                          2.3)  การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัย ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยคำว่า  เพื่อ
เพื่อศึกษา เพื่อหา  เพื่อเปรียบเทียบ เป็นต้น แล้วตามด้วยชื่อเรื่องวิจัยและตัวแปรการวิจัย ตัวอย่างเช่น เพื่อศึกษาเจตคติของข้าราชการครูที่มีต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(ชื่อเรื่อง)
                          2.4 )  การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัย ต้องมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ไม่
ซ้ำซ้อนและครอบคลุมประเด็นที่ศึกษา    หากนักศึกษาเข้าใจหรือวิเคราะห์หัวเรื่องได้ดี   จะสามารถแยกแยะว่าต้องการจะศึกษาเรื่องอะไรบ้างหรือมีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องศึกษาและยังอาจแบ่งเป็นประเด็นย่อย ทำให้มีความละเอียดเพิ่มขึ้น  การตั้งจุดมุ่งหมายก็จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการแยกแยะและตั้งจุดมุ่งหมายจะช่วยทำให้นักศึกษาเข้าใจและทราบต่อไปว่า  ตนเองจะเก็บรวบรวมข้อมูลอะไรบ้างและข้อมูลที่จัดเก็บใช้เครื่องมืออะไร  จะต้องมีความละเอียดมากน้อยเพียงใด จะได้เห็นว่าการตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยเปรียบเสมือนเครื่องชี้ทาง ซึ่งช่วยนักศึกษาให้เก็บข้อมูลได้ถูกต้องตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย  ตัวอย่างเช่น 
                                           -   เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่าย  เรื่อง ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและสืบค้น  แสดงว่า  นักศึกษาต้องเก็บข้อมูล 2 ครั้ง  คือก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่าย  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
                                      2.5)  การตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยต้องเป็นประโยคบอกเล่า
                                      2.6)  จุดมุ่งหมายที่ตั้งขึ้น  สามารถตั้งสมมติฐานตรวจสอบหรือทดสอบได้กล่าวคือ ในงานวิจัยเชิงปริมาณส่วนใหญ่จะมีสมมติฐาน  เมื่อนักศึกษาตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัยขึ้นแล้วต้องทดสอบได้ ตัวอย่างเช่น                                                 
                                           ความมุ่งหมายของการวิจัย  เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของข้าราชการครูต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร  ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
                                           สมมติฐานของการวิจัย ข้าราชการที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร  ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรต่างกันมีเจตคติต่อการทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแตกต่างกัน
                                           การทดสอบในที่นี้คือการทดสอบด้วยวิธีการทางสถิติ  เช่น
                                                -  ประสบการณ์ในการสอน แบ่งออกเป็น     2 กลุ่มคือ ประสบการณ์น้อยกว่า 5 ปีและประสบการณ์มากกว่า 5 ปีขึ้นไป สถิติที่ใช้ในการทดสอบคือ t-test (Independent  sample  t-test)
                                                -  ขนาดโรงเรียน แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ สถิติที่ใช้ในการทดสอบ คือ One- way ANOVA (analysis of variance)
                                      2.7)  มีความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นหรือหัวข้อจุดมุ่งหมายของการวิจัย  นอกจากจุดมุ่งหมายที่ตั้งขึ้นจะมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ไม่ซ้ำซ้อนแล้ว  นักศึกษาต้องจัดอันดับให้เห็นความสัมพันธ์กันหรือให้เห็นความลดหลั่นถึงความสำคัญของจุดมุ่งหมายของการวิจัย
                             3.1.3  การเขียนความสำคัญของการวิจัย 
                                 ความสำคัญของการวิจัยเป็นการบ่งชี้ว่าหลังจากทำวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว จะได้อะไรบ้างในแง่ของประโยชน์ที่คาดจะได้รับ   ความรู้ที่ได้จากการทำวิทยานิพนธ์และ สามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ได้ในด้านใดบ้าง ซึ่งความสำคัญของการวิจัยมีหลักการเขียนดังนี้
                                      1)  ไม่ขึ้นต้นด้วยคำว่า  เพื่อ   ความสำคัญของการวิจัยเป็นผลที่คาดจะได้รับ ดังนั้นการเขียนควรระบุลงไปเลยว่างานวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ หลังจากเสร็จแล้วจะได้อะไรบ้าง มีประโยชน์ในแง่ใด  นำผลไปพัฒนาได้อย่างไร
                                      2)  อยู่ในขอบเขตของการวิจัย  นักศึกษาต้องเขียนความสำคัญของการวิจัยให้อยู่ขอบเขตของการวิจัย ไม่ควรอ้างความสำคัญของการวิจัยเกินขอบเขตของการวิจัยในเรื่องที่ศึกษา  เช่น ผลจากการวิจัยหน่วยงานหรือองค์กรจะนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาหน่วยงาน แต่หลังจากอ่านผลการวิจัยทั้งหมดแล้ว ไม่มีส่วนใดหรือผลการวิจัยที่หน่วยงานนำไปใช้พัฒนาหน่วยงานได้เลย ดังนั้นการเขียนความสำคัญต้องระบุความสำคัญที่เป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
                                      3)  เขียนความสำคัญให้ชัดเจน  ชัดเจนในด้านประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  ด้านความรู้ ด้านการประยุกต์ใช้  และที่สำคัญเขียนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย  ความสอดคล้องถือว่ามีความสำคัญ  ความสำคัญของการวิจัยกับจุดมุ่งหมายของการวิจัยมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นความชัดเจน คือสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้และในแง่ผลการวิจัยที่จะนำไปใช้ได้จริง ตัวอย่างเช่น  ศึกษาเรื่อง แนวโน้มการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนอำเภอในทศวรรษหน้าโดยใช้เทคนิคเดลฟาย ความสำคัญของการวิจัย คือ ผลการวิจัยจะเป็นข้อสนเทศสำหรับกรมการศึกษานอกโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง  นำไปใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ วางแผน  ปรับปรุงการดำเนินห้องสมุดประชาชนอำเภอ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาของประชาชนยิ่งขึ้น
                             3.1.4   กรอบแนวคิดในการวิจัย (ถ้ามี) 
                                 กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual framework)ถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในงานวิทยานิพนธ์อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชื่อเรื่องที่ศึกษาและประเภทของงานวิจัย  ซึ่งกรอบแนวคิดในการวิจัย หมายถึง  กรอบของการวิจัยในด้านเนื้อหาสาระ ซึ่งประกอบด้วยตัวแปรและการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร(สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, 2544 : 72) และตัวแปรแต่ละตัวที่เลือกมาศึกษาจะต้องมีพื้นฐานทางทฤษฏีความมีเหตุมีผลว่ามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการศึกษา มิใช่แต่เป็นการสุ่มเลือกตามใจของผู้วิจัยเอง  การที่ตัวแปรมีทฤษฏีอ้างอิงจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ที่มีอยู่แล้วให้ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น  เพราะจะได้ทดสอบทฤษฏีที่ได้ระบุตัวแปรนั้น ๆว่าถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังช่วยตีความหมายผลการวิจัยที่ได้ การวิจัยมิใช่มุ่งแต่การตัวเลขมายืนยันเท่านั้น ดังนั้นกรอบแนวคิดต้องระบุว่ามีตัวแปรอะไรบ้างและตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร  เป็นการช่วยให้นักศึกษาและผู้อื่นได้ทราบว่ามีแนวคิดอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการศึกษาและคิดว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไรในรูปแบบใด ทิศทางใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูล  การออกแบบการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูล ของการวิจัยด้วย
                                 ที่มาของกรอบแนวคิดในการวิจัย  ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักศึกษา คิดไม่ตกคือการได้มาของกรอบแนวคิดการวิจัยได้มาอย่างไร  กรอบแนวคิดมีที่มาอยู่ 2 แหล่ง คือ
                                      1)  ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ งานวิจัยที่คนอื่นทำมาแล้วที่มีประเด็นตรงกับที่ศึกษา หรือมีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกัน มีตัวแปรบางตัวที่ต้องการศึกษารวมอยู่ด้วย
                                      2)  ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง  นักศึกษาควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาทฤษฏีต่าง ๆ    ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา เพื่อทราบความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร การศึกษาทฤษฏีที่เกี่ยวข้องนอกจากจะชี้ให้เห็นว่าตัวแปรใดสำคัญและมีความสัมพันธ์กันอย่างไรแล้ว ยังได้กรอบแนวคิดในการวิจัยที่ชัดเจนและมีเหตุมีผล
                             3.1.5  ขอบเขตของการวิจัย
                                 ขอบเขตของการวิจัย เป็นการเขียนอธิบายลักษณะหรือกรอบที่นักศึกษากำหนดว่าหัวข้อเรื่องนั้นจะศึกษากับใคร ที่ไหน อย่างไร  จำนวนเท่าไหร่ มีตัวแปรอะไรบ้าง และมีเนื้อหา(ถ้ามี)หรือใช้เวลาในการวิจัยเท่าใด นักศึกษาต้องเขียนขอบเขตของการวิจัยให้ชัดเจนและครอบคลุมหัวข้อเรื่องด้วย โดยทั่วไปแล้วขอบเขตของการวิจัยจะมีส่วนประกอบย่อยดังนี้
                                      1)  ประชากร  เป็นการเขียนอธิบายคุณสมบัติของประชากรที่ใช้ในการวิจัยว่าคือใคร  ที่ไหน  ปีไหน  จำนวนเท่าใด    ตัวอย่างเช่น  ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  ปีการศึกษา  2549  จำนวน  13,104 คน
                                      2)  กลุ่มตัวอย่าง  คือ ส่วนหนึ่งของประชากร  เป็นการเขียนอธิบายลักษณะกลุ่มตัวอย่างว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือใคร ที่ไหน ปีไหน  จำนวนเท่าใด  แต่ไม่ต้องเขียนอธิบายวิธีเลือกกลุ่มตัวอย่าง  ตัวอย่างเช่น  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  ปีการศึกษา  2549  จำนวน  500 คน
                                      3)  เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย(ถ้ามี)  ส่วนมากพบในการวิจัยเชิงทดลอง  เป็นเขียนอธิบายหรือกำหนดขอบเขตของเนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยว่า เนื้อหาวิชาอะไร เรื่องอะไร มีจำนวนกี่หน่วยหรือบท  บางทีอาจจะบอกจำนวนคาบที่ใช้ในการสอน ตัวอย่างเช่น  เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ รายวิชา 1601 505   การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต แบ่งเป็น  2  หน่วยการเรียน   คือ
                                           หน่วยการเรียนที่ 1    เทคโนโลยีสารสนเทศ
                                           หน่วยการเรียนที่ 2    ICT   
                                      4)  ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย (ถ้ามี) เป็นการเขียนอธิบายลักษณะของตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยว่าประกอบด้วยตัวแปรอะไรบ้าง  โดยปกติแล้ว จะแบ่งออกเป็น  2  ตัวแปร คือ ตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม  ซึ่งการวิจัยจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยด้วย  ตัวอย่างเช่น
                                           ตัวแปรอิสระ ได้แก่ 
                                                1.  เพศ  จำแนกเป็น  เพศชาย  เพศหญิง
                                                2.  อายุ  จำแนกเป็น 
                                                   2.1  อายุต่ำกว่า  20 ปี
                                                  2.2  อายุระหว่าง 21-25 ปี
                                                   2.3  อายุ 26 ปีขึ้นไป
                                           ตัวแปรตาม ได้แก่ เจตคติต่อวิทยาศาสตร์
                                     5)  ระยะที่ใช้ในการวิจัยหรือการทดลอง(ถ้ามี) เป็นการเขียนอธิบายบอกขอบเขตของการวิจัยตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการวิจัยหรือ บ่งบอกระยะเวลาที่ใช้ในการทดลองว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่  ปีไหน สิ้นสุดเมื่อใด รวมจำนวนเท่าใด  ตัวอย่างเช่น   ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย คือ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือน สิงหาคม   พ.ศ. 2549 จำนวน 3 เดือน

ตัวอย่างการเขียน

ขอบเขตของการวิจัย

              1.  ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  ปีการศึกษา  2549  จำนวน  13,104 คน
              2. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  ปีการศึกษา  2549  จำนวน  500 คน
              3.  เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ (ถ้ามี)คือ รายวิชา 1601 505   การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต แบ่งเป็น  2  หน่วยการเรียน   คือ
                   หน่วยการเรียนที่ 1    เทคโนโลยีสารสนเทศ
                   หน่วยการเรียนที่ 2    ICT   
              4)  ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น (ถ้ามี)
                   4.1 ตัวแปรอิสระ ได้แก่ 
                        4.1.1 เพศ  จำแนกเป็น  เพศชาย  เพศหญิง
                        4.1.2 อายุ  จำแนกเป็น 
                            1)  อายุต่ำกว่า  20 ปี
                            2)  อายุระหว่าง 21-25 ปี
                            3)  อายุ 26 ปีขึ้นไป
                   4.2  ตัวแปรตาม ได้แก่ เจตคติต่อวิทยาศาสตร์
              5)  ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย (ถ้ามี) คือ ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2549  เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือน สิงหาคม  พ.ศ. 2549 จำนวน 3 เดือน


                             3.1.6  สมมุติฐานของการวิจัย
                                สมมติฐาน  เป็นการกล่าวถึงข้อสันนิฐาน ซึ่งเป็นข้อความที่คาดคะเนผลการวิจัยนั้นว่าจะค้นพบอย่างไร  การเขียนต้องอยู่บนพื้นฐานทฤษฏีและข้อเท็จจริง  ตัวอย่างเช่น ความพอใจในการทำงานมีผลต่อประสิทธิภาพของงานเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าข้อความมีความเชื่อมโยงระหว่างตัวแปร 2 ตัว  ตัวแปรแรก คือ  ความพอใจในการทำงาน  ตัวแปรที่สอง  ประสิทธิภาพของงาน  ดังนั้นการเขียนสมมติฐานที่ดีและถูกต้องไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งนี้เพราะการเขียนสมมติฐานที่ดีนั้นมีหลักเกณฑ์การเขียน ดังนี้
                                      1)  สมมติฐานที่สร้างขึ้นต้องสอดคล้องกับความมุ่งหมายของการวิจัย
                                      2)  ควรเขียนข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม และกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ให้ชัดเจน
                                      3)  ไม่ควรเขียนในรูปสมมติฐานเป็นกลางเหมือนสมมติฐานทางสถิติ เว้นแต่การวิจัยนั้นยังขาดข้อเท็จจริงหรือขัดแย้ง  ขาดข้อมูล หรือผลการวิจัยสนับสนุน
                                      4)  สามารถทดสอบได้ เช่น  ด้วยวิธีการทางสถิติ  ข้อมูลหรือหลักฐานต่าง ๆ
                                      5)  เขียนจากหลักการ เหตุผล   ผลงานวิจัยที่เคยทำมาแล้วที่นักศึกษาได้ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น  วิทยานิพนธ์  บทความ  วารสาร  อินเทอร์เน็ต
                                      6)  ใช้ภาษาที่ชัดเจน เข้าใจง่ายและรัดกุม
                            จะเห็นได้ว่าการเขียนสมมติฐานที่ดีจะต้องระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม มีการกำหนดให้เห็นทิศทางของความสัมพันธ์ว่าเป็นไปในทางใด  เช่น  มากกว่า  น้อยกว่า แตกต่างหรือไม่แตกต่าง 

 
ตัวอย่างการเขียนสมมติฐาน

              ความมุ่งหมายของการวิจัยว่า   เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของข้าราชการครูต่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร  ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
              สมมติฐานของการวิจัย คือ  ข้าราชการที่มีประสบการณ์ในการสอน ประสบการณ์ในการอบรมการจัดทำหลักสูตร  ขนาดของโรงเรียนและระดับช่วงชั้นที่จัดทำหลักสูตรต่างกันมีเจตคติต่อการทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแตกต่างกัน                                       

                            3.1.7  ข้อตกลงเบื้องต้น(ถ้ามี)
                                 ข้อตกลงเบื้อต้น  หมายถึง  ข้อความที่บ่งบอกถึงสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งนักศึกษา  ที่เป็นผู้วิจัยจะเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าจะเขียนข้อตกลงเบื้องต้นอย่างไรบ้าง การเขียนสามารถเขียนเป็นข้อหรือความเรียงได้ตามเหมาะสมของงานวิจัยประเภทนั้น เช่น  นิสิตตอบแบบสอบถามด้วยความเต็มใจ
                             3.1.8  นิยามศัพท์เฉพาะ 
                                 นิยามศัพท์เฉพาะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิจัย ทั้งนี้เพราะในการศึกษาหรือวิจัย ผู้ที่ทำวิจัยไม่สามารถที่จะอธิบายข้อเท็จจริงทุกอย่างได้ทั้งหมด  การให้คำอธิบายที่จำเป็นในเรื่องที่ผู้วิจัยกำลังศึกษาอยู่ จึงเป็นสิ่งจำเป็น อาจจะเป็นนิยามตัวแปร ศัพท์ที่จำเป็น  ซึ่งคำที่จะนำมานิยามเป็นนิยามศัพท์เฉพาะก็มาจากชื่อเรื่อง นั่นเอง  ในการเขียนนิยามศัพท์เฉพาะมีหลักเกณฑ์ในการเขียน ดังนี้
                                      1)  ให้เลือกนิยามศัพท์เฉพาะที่จำเป็นที่มาจากชื่อเรื่องหรือตัวแปรที่เกี่ยวข้อง เน้นให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกับผู้วิจัยศึกษา  เช่น  ศึกษาเรื่อง แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning) สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย   นิยามศัพท์เฉพาะที่ต้องนิยามคือ 1) e-Learning หมายถึง 2) การเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) หมายถึง 3) สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย หมายถึง   เป็นต้น  
                                      2)  การเขียนนิยามศัพท์เฉพาะ  นักศึกษา  สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม มี 2 ลักษณะ  คือ 
                                           2.1)  นิยามแบบทั่วไป  คือ การยกนิยามที่ระบุไว้ในพจนานุกรม  สารนุกรม ตำรา วารสาร ฯลฯ
                                           2.2)  นิยามปฏิบัติการ คือ การนิยามที่นอกเหนือจากให้ความหมายของคำนั้นแล้ว  โดยนักศึกษาหรือผู้วิจัย เป็นผู้ให้นิยามเอง เน้นเฉพาะเจาะจงสำหรับวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ที่ศึกษาเท่านั้น 
                                      3)  กรณีที่นักศึกษา ยกนิยามของคนอื่นมาจะต้องเขียนอ้างอิงกำกับไว้ด้วย
                                      4)  นิยามศัพท์ที่นำมานิยาม ต้องเขียนศัพท์ภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย 


                        3.2  การเขียนบทที่  2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

                             การเขียน การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ  ที่นักศึกษา จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนั้นในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการค้นคว้า การอ่าน จากตำรา  เอกสาร  บทความ  วารสาร   อินเทอร์เน็ต  เป็นต้นซึ่งจะช่วยให้ข้าใจประเด็น กรอบแนวคิดของการวิจัยชัดเจนมากขึ้น  แต่ส่วนมากแล้วมักจะถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะนักศึกษาที่ทำวิจัยใหม่ ๆ มุ่งเพียงแต่จะทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จสิ้นรวดเร็วตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น เป็นการเขียนเนื้อหาเพื่อให้มีเนื้อหาสาระมาก ขาดการสรุปในแต่ละเรื่อง  ขาดการเชื่อมโยงสู่เรื่องที่วิจัยและที่สำคัญ นักศึกษามักนิยมลอกต่อจากกันมาจากรายงานการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ของผู้อื่น  ปัญหาตามคือทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจปัญหาที่ทำการวิจัยอย่างแท้จริง  เพราะพื้นฐานความรู้ การตั้งความมุ่งหมายของการวิจัย  สมมติฐานของการวิจัย  กรอบแนวคิดของการวิจัย  ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยและนิยามศัพท์เฉพาะ มาจากการศึกษาค้นคว้าเอกและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น ส่งผลกระทบต่อการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์และสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์  ทำให้การสอบไม่ผ่านได้  ทำให้เสียเวลาในการทำวิทยานิพนธ์ใหม่  จะเห็นได้ว่าการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้นมีความสำคัญมากต่อการทำวิทยานิพนธ์ เพราะเป็นขั้นตอนการวิจัยที่จะบอกให้นักศึกษาทราบว่า  มีความรอบรู้ในปัญหาที่ตนทำการวิจัยมากน้อยเพียงใด  ได้มีผู้ทำวิจัยในเรื่องนี้ในอดีตถึงปัจจุบันมากเท่าใด ได้มีการใช้แนวคิดอะไรบ้าง ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยอย่างไร และได้ข้อค้นพบอะไร ได้ข้อเสนอแนะอะไรบ้างทั้งในด้านเนื้อหาและผลการวิจัย และการเสนอผลการวิจัยถูกต้องหรือบ่งชี้อะไรบ้าง

                             3.2.1  ความหมาย

                                 การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  หมายถึง  การศึกษา  ค้นคว้า รวบรวมวิเคราะห์และสังเคราะห์งานทางวิชาการ จากตำรา  เอกสาร  บทความทางวิชาการ อินเทอร์เน็ตและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา เพื่อประเมิน สรุป  ข้อเสนอแนะการวิจัยก่อนจะลงมือทำวิทยานิพนธ์ของตนเอง

                             3.2.2  สิ่งที่พึงกระทำในการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                                 ส่วนมากในงานวิทยานิพนธ์ มักจะพบปัญหาหรือมีข้อบกพร่องเรื่องบรรณานุกรมไม่ครบ เนื่องจากนักศึกษาขาดความรอบคอบในการจดบันทึก เมื่อมีการนำเอกสารหรือบทความมาใช้ในวิทยานิพนธ์ กล่าวคือ ไม่มีจดบันทึกเจ้าของเอกสารหรือเนื้อหานั้นหรือมีอ้างอิงในเนื้อหาและในบรรณานุกรมรวมไม่มี  เพื่อตัดปัญหาดังกล่าว เมื่อมีการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  นักศึกษาควรทำการจดบันทึกเนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่อง สถิติ/ข้อมูลต่าง ๆ  ที่จะนำมาอ้างอิง เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงและนำมาใช้เรียบเรียง นอกจากนี้นักศึกษาควรทำการจดบันทึกเจ้าของบทความ  เนื้อหาที่นำมาด้วย โดยระบุชื่อผู้เขียน ชื่อตำรา ชื่อบทความในวารสารหรือชื่อวารสาร   ชื่อสถานที่พิมพ์  สำนักงานพิมพ์  ปีที่พิมพ์และถ้าเป็นวารสารต้องระบุเลขหน้า  ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การอ้างอิงได้อย่างชัดเจนและการค้นคว้าในครั้งต่อไป รวมทั้งการทำบรรณานุกรม

                             3.2.3 แหล่งที่มาของเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                                 แหล่งที่มาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   สามารถจำแนกได้ดังนี้
                                      1.  บทความทางวิชาการของสาขาวิชาที่ตนศึกษาและสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ข้อดี คือความเป็นปัจจุบันของเนื้อหาและงานวิจัย ว่ามีความเคลื่อนไหวและมีแนวทางไปในทางทิศใดบ้าง
                                      2.  รายงานการวิจัยและวิทยานิพนธ์  ส่วนใหญ่รายงานวิจัยเหล่านี้มักจะทำโดย อาจารย์  นักวิจัย ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่าง ๆ หรือ กองวิชาการตามหน่วยราชการ   บางแห่งได้ทำการรวบรวมเป็นบทคัดย่อเพื่อความสะดวกแก่การค้นคว้า  ส่วนวิทยานิพนธ์ทำโดยนักศึกษาที่ศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ประโยชน์ของการศึกษาวิทยานิพนธ์ คือ มีการศึกษาอะไรบ้างแล้วในอดีต มีมากน้อยเพียงใด  ทราบความยุ่งยากและสลับซับซ้อนของงานวิจัยเรื่องนั้น ทราบถึงวิธีการศึกษาว่าเป็นอย่างไร การเก็บรวบรวมข้อมูล   การวิเคราะห์ข้อมูล ได้ค้นพบอะไรบ้าง    มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหัวเรื่องที่ศึกษา  เอกสารและงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงมีอะไรบ้าง  อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรระวังในการศึกษาวิทยานิพนธ์ คือ  คุณภาพของวิทยานิพนธ์ เนื่องจากวิทยานิพนธ์แต่ละสถาบันการศึกษามีนโยบายเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ไม่เหมือนกัน คุณภาพของงานวิทยานิพนธ์จึงแตกต่างกัน  หากนักศึกษานำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพต่ำมาเป็นตัวอย่างหรือแนวทางในการศึกษา อาจจะทำให้นักศึกษาพบปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในด้านระเบียบวิธีวิจัยและการปกป้องวิทยานิพนธ์ของตนได้
                                      3.  ตำราทางวิชาการ  ส่วนมากแล้วจะเป็นเอกงานงานเขียนของนักวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นแหล่งความรู้หลักการ ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง ที่มีการรวบรวมไว้เป็นเรื่องอย่างชัดเจน แต่จะมีข้อเสีย  คือความล้าสมัยของตำรา
                                      4.  อินเทอร์เน็ต  ถือว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลาย มีความใหม่ ทันสมัยที่สุด มีการปรับปรุงตลอดเวลา และสามารถสืบค้นได้ทั่วโลก มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ดังนั้นการที่จะนำเนื้อหาหรือ ข้อความมาอ้างอิงควรกลั่นกรองว่ามีความเชื่อถือได้หรือไม่ 

                             3.2.4  การนำเสนอเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 
                                 นักศึกษามักจะวิตกกังวลเสมอว่า หลังจากมีการศึกษาเอกสารและงานวิจัย    ที่เกี่ยวข้องแล้ว จะนำอะไรบ้างมาเขียนมาเสนอในบทที่ 2  จะเรียงลำดับหัวข้อเนื้อหาไหนก่อน หลัง    จะยกเอาเนื้อหาทั้งหมดหรือไม่นำมาเขียนหรือเอามาเฉพาะบางส่วน มีการอ้างอิงอย่างไร ดังนั้นการเขียน นำเสนอเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีหลักการเขียน ดังนี้
                                      1.  ในบทที่  2 จะประกอบด้วยหัวข้อย่อย  2 ส่วน คือ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องที่ศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา
                                           1.1  เอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา  จะประกอบด้วย ความหมายของสิ่งที่หัวข้อเรื่องที่วิจัย   ทฤษฏี  แนวคิด กับสิ่งที่วิจัย เทคนิควิธีการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเอกสารอ้างอิงที่นำมาอ้างไม่น้อยกว่า 20 เล่ม  และการเขียนนำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องควรนำเสนอหรือเรียบเรียงจากตัวแปรที่ระบุไว้ในหัวข้อเรื่องหรือในความมุ่งหมายของการวิจัย  โดยนักศึกษาประมวลสังเคราะห์ ทฤษฏีและแนวคิดต่าง ๆ มีผู้ใดได้ศึกษาหรือเสนอแนวความคิดและทฤษฏีอะไรไว้บ้าง   มีข้อโต้แย้งหรือข้อค้นพบอะไรกันบ้างตามตัวแปร  เริ่มจากหัวข้อหลักไปหาหัวข้อรอง  ตัวอย่างเช่น  ศึกษาเรื่องแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย  การนำเสนอเอกสารประกอบด้วย
                                               -   ความหมายของ e-Leaning
                                                -  ความหมายของการพัฒนาการเรียนการสอน
                                                -  การเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์
                                                -  การจัดการเรียนการสอนบนระบบเครือข่าย
                                      การนำเนื้อหามาเขียนนั้น นักศึกษาควรเนื้อหาที่มีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์มาเขียน ยิ่งเรื่องที่ศึกษามีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื้อหาที่นำมาเขียนก็ต้องใหม่  เป็นปัจจุบันมากที่สุด  ที่สำคัญเมื่อมีการนำเนื้อหาของคนอื่นมาเขียนต้องมีการอ้างอิงทุกครั้ง เพื่อให้เกียรติเจ้าของเนื้อหาเป็นสำคัญ  ซึ่งการอ้างอิงนั้นขึ้นอยู่กับรูปของสถาบันกำหนดและเมื่อการนำเนื้อหามาเขียนแล้ว หลังจากหัวข้อหรือหัวข้อย่อย  นักศึกษาต้องสรุปโดยใช้ภาษาของตนเอง ตัวอย่างเช่น

                   ความหมายของบทเรียนบนเครือข่าย
                        ข่าน  (Khan.    1997  :  42)  ได้ให้ความหมายว่า  เป็นโปรแกรมไฮเปอร์มีเดียที่ช่วยในการสอน  โดยใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะและทรัพยากรของอินเทอร์เน็ต  (www)  มาสร้างให้เกิดการเรียนรู้  โดยส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนในทุก   ทาง 
                        ปรัชญนันท์  นิลสุข    (2543  :  48)  ได้ให้ความหมายว่า  บทเรียนบนเครือข่าย  (WBI)  หมายถึง  การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตมาออกแบบและจัดระบบเพื่อการเรียนการสอน  สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้  มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา
                        ไชยยศ  เรืองสุวรรณ    (2546  :  14)  ให้ความหมายของบทเรียนบนเครือข่าย (WBI)  ว่าเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่นำเสนอผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยใช้เว็บเบราเซอร์เป็นตัวจัดการ
                        สรุปได้ว่าบทเรียนบนระบบเครือข่าย  (WBI)  หมายถึง บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่นำเสนอผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยใช้เว็บเบราเซอร์เป็นตัวจัดการ
                                           1.2  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  หมายถึง  งานวิจัยที่นักศึกษา   รวบรวม ค้นคว้า เน้นเกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ตนศึกษา ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า งานวิจัยในประเทศ อย่างน้อย 10 เรื่อง และปีที่ทำเสร็จไม่เกิน 10 ย้อนหลัง   งานวิจัยต่างประเทศ อย่างน้อย 5 เรื่อง ไม่เกิน 15 ปีย้อนหลัง อย่างไรก็ตามกรณีที่เป็นเรื่องใหม่มาก ๆ หางานวิจัยไม่พบสามารถอนุโลมได้  การเรียบเรียงงานวิจัยนั้นเริ่มจากงานวิจัยภาษาไทย(เรียงตามพ.ศ.ปัจจุบันย้อนหลัง)และตามด้วยงานวิจัยต่างประเทศ การนำงานวิจัยมาเขียนในบทที่ 2 นั้นให้นักศึกษายกข้อความจากบทคัดย่อของแต่ละเรื่องได้เลย ซึ่งมีลักษณะการเขียนประกอบด้วย  ชื่อผู้วิจัย (ปีที่พิมพ์ : เลขหน้าหรือที่มา)  ได้ศึกษา ..เรื่องที่วิจัย ....... ผลการวิจัยพบว่า ..........................  หรือ ประกอบด้วยชื่อผู้วิจัย (ปีที่พิมพ์ : เลขหน้าหรือที่มา)  ได้ศึกษา ..เรื่องที่วิจัย .......  ความมุ่งหมายของการ ............ กลุ่มตัวอย่าง ..........ผลการวิจัยพบว่า .......................... ตัวอย่างเช่น               
                   สรรพสิริ  เอี่ยมสะอาด(2547 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนาแผนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์  เรื่องการบวกลบเศษส่วน  ชั้นประถมศึกษาปีที่  6  ผลการศึกษาพบว่า  1)  แผนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์  เรื่อง  การบวกลบเศษส่วน  ชั้นประถมศึกษาปีที่  6  ที่ผู้ศึกษาค้นคว้าพัฒนาขึ้น  มีประสิทธิภาพ  83.39/77.50  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้เท่ากับ  75/75  และมีดัชนีประสิทธิผลของแผนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัย  ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น  ร้อยละ  70  หลังจากเรียนตามใช้แผนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะและ 2)นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการจัดการเรียนรู้  โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ  วิชาคณิตศาสตร์  เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  .01  และมีความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะอยู่ในระดับมาก
 

            3.3 การเขียนบทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย

                 วิธีดำเนินการวิจัย เป็นส่วนประกอบของเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่มีความสำคัญ นักศึกษาต้องมีความรอบคอบ รัดกุม ในการเขียน การนำเสนอ ประกอบด้วยหัวข้อย่อย ประชากร กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล  การสร้างเครื่องมือ  การเก็บรวบรวมข้อมูล    การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล  อย่างไรก็ตามในงานวิทยานิพนธ์เชิงปริมาณจะพบว่ามักมีข้อบกพร่องหลายประการ  เขียนประชากรและกลุ่มตัวอย่างไม่ชัดเจน การสร้างเครื่องมือไม่สอดคล้องกับการวิจัย  ผู้เชี่ยวชาญที่พิจารณาเครื่องมือรวบรวมข้อมูลไม่บอกว่าเป็นใคร ทำงานที่ไหน เขียนสูตรสถิติผิด  ดังนั้นเพื่อลดปัญหาหรือข้อบกพร่องดังกล่าว นักศึกษา ควรศึกษาวิธีการเขียน การนำเสนอให้เข้าใจเพื่อปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์และวิทยานิพนธ์ให้มีคุณภาพ
                             วิธีดำเนินการวิจัย  คือ การกำหนด วิธีการ กิจกรรมต่าง    และรายละเอียดการวิจัยที่นักศึกษาจะต้องทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล นับตั้งแต่ ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยไปจนถึงสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนวิธีดำเนินการวิจัยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การได้มาซึ่งข้อมูลที่สามารถตอบปัญหาของการวิจัยตามความมุ่งหมายของการวิจัยที่กำหนดไว้ 
                            3.1.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 
                                      ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ หน่วยศึกษาหรือกลุ่มเป้าหมายที่นักศึกษาจะเก็บข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สุดแท้แต่งานวิจัยนั้นจะศึกษาอะไรในเรื่องใด  กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยในแต่ละเรื่องนั้น อาจจะมีกลุ่มเดียวหรือหลายกลุ่ม ระดับเดียวกันหรือหลายระดับก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขอบเขตของการวิจัย  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของการวิจัยจะมีผลอย่างมากต่อวิธีการเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นการเลือก ประชากร กลุ่มตัวอย่างต้องชัดเจน การเขียนก็เช่นเดียวกัน ต้องระบุให้ชัดเจน ครอบคลุม ระบุประชากรและจำนวนประชากรให้ชัดเจน จำนวนกลุ่ม ตัวอย่างต้องกำหนดไว้อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ กล่าวถึงวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้วิธีที่เหมาะสมและทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพในการปฏิบัติจริง ๆ พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดของจำนวนกลุ่มตัวอย่างให้ชัดเจน
                                      การเขียนประชากรและกลุ่มตัวอย่าง มีข้อพึงระวังคือ ข้อความที่เขียนในบทที่ 1 ว่าประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือใคร ที่ไหน อย่างไร จำนวนเท่าใด ในบทที่ 3 ก็เช่นเดียวกัน ต้องเขียนเหมือนกันทุกประการ บ่งบอกถึงความคงเส้นความในการเขียนวิทยานิพนธ์ด้วย  บทที่ 3 จะแตกต่างจากบทที่ 1 คือ จะเขียนบอกวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง  พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดของจำนวนกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งในบทที่ 1 จะไม่เขียนและแสดงรายละเอียด สำหรับปัญหาที่พบในเค้าวิทยานิพนธ์ คือ จำนวนประชากรและกลุ่มตัวอย่างไม่เหมือนกัน รวมทั้งข้อความการเขียนไม่เหมือนกัน เช่น บทที่ 1 บอกว่า มีจำนวน 86 คน บทที่ 3 บอกว่า มี จำนวน 89 คน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นข้อบกพร่องที่พบบ่อย ดังนั้นการแก้ไขคือ คัดลอกข้อความจากบทที่ 1 เลยแล้วมาเพิ่มเติมวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง พร้อมแสดงรายละเอียด เท่านี้ก็เสร็จ ส่วนหลักในการเขียนอธิบายประชากรและกลุ่มตัวอย่าง มีรายละเอียดดังนี้

                        1.  ประชากร

                            ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  .........(คือใคร).......(ที่ไหน)..........(ปีไหน)............(จำนวนเท่าใด)........................ (อาจจะแสดงตารางจำนวนประชากรประกอบ)
                        2.  กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  .........(คือใคร).......(ที่ไหน)..........(ปีไหน)............(จำนวนเท่าใด)......................ซึ่งได้มาโดย.....................(ระบุวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง)..............มีรายละเอียดการเลือกดังนี้(นักศึกษา สามารถแสดงเป็นตารางหรือเป็นแผนภูมิแลดงวิธีการได้มาของกลุ่มตัวอย่างทั้งนี้ขึ้นอยู่วิธีการนั้น)  ดังตัวอย่างการเขียน

                        1.  ประชากร
                            ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  ปีการศึกษา  2549  จำนวน  13,104  คน
                       2.  กลุ่มตัวอย่าง 
                            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  ปีการศึกษา  2549  จำนวน  500 คน  ซึ่งได้ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน  (Multi - stage Random Sampling) มีวิธีการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างและขั้นตอนการสุ่ม ดังนี้........
                            3.1.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยหรือรวบรวมข้อมูล
                                 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยหรือเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญของการวิจัย เพราะจะเป็นสิ่งที่นักศึกษาได้เชื่อมกรอบแนวคิดของการวิจัยและแนวคิดต่าง ๆ ของตนกับความเป็นจริง สิ่งที่สำคัญของเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือตัวข้อมูลที่จะนำมาสร้างเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ดังนั้นการทำวิทยานิพนธ์ เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลถือว่าเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมาก ในหัวข้อย่อยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในเค้าโครงวิทยานิพนธ์เป็นการเขียนอธิบายว่าในหัวข้อเรื่องที่ศึกษานั้นมีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลว่ามีกี่ชนิด ประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งการกำหนดเขียนนั้นให้เขียนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยเท่านั้น  ส่วนเครื่องมือที่ไม่เกี่ยวข้องในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยไม่ต้องนำมาเขียนไว้ และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น แบ่งออเป็น 3 กรณี คือ 1) เครื่องมือที่มีผู้อื่นสร้างไว้เรียบร้อยแล้ว  นักศึกษายืมมาใช้ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นของใคร สร้าง พ.ศ. ใด  2) เครื่องมือที่นักศึกษาสร้างขึ้นมาเอง  3) กรณีที่วิทยานิพนธ์ทำเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาเครื่องมือ  ต้องเขียนแผนภาพประกอบรายละเอียดและทดลองไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง  สำหรับการเขียนอธิบายเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีรายละเอียดไม่ซับซ้อน มี 2 ลักษณะ คือ

              กรณีที่  1  มีเครื่องมือชนิดเดียวเท่านั้นและมีแบบเดียว  มีลักษณะการเขียนดังนี้
              เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
                   เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบ.........................ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง   จำนวน ...ฉบับ คือ ....................................... แบ่งเป็น .....................ตอน ดังนี้
                        ตอนที่ 1 .................................(ส่วนมากเป็นสถานภาพของผู้ตอบ) มีลักษณะเป็น ..
                        ตอนที่ 2 ..................................ซึ่งมีลักษณะเป็น .......................................
                   กรณีที่ 2 มีเครื่องมือหลายชนิดและมีหลายแบบ มีลักษณะการเขียน ดังนี้
                        กรณีลักษณะนี้นั้น ควรเขียนเรียงลำดับบอกรายละเอียดของเครื่องมือแต่ละชนิดเท่านั้นตัวอย่างเช่น
                       เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

                            เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย ชนิด ดังนี้
                                 1.  แบบ.....(ระบุชนิดเครื่องมือ)........จำนวน .. ฉบับ  แบ่งออกเป็น ตอน คือ  .......(บอกชื่อแต่ละตอนเท่านั้นว่าเป็นแบบไหน มีกี่ระดับ อะไรบ้าง)..........
                                 2.  แบบ.....(ระบุชนิดเครื่องมือ)........จำนวน .. ฉบับ  แบ่งออกเป็น .. ตอน คือ  .......(บอกชื่อแต่ละตอนเท่านั้นว่าเป็นแบบไหน มีกี่ระดับ อะไรบ้าง)..........
                                 3.  แบบ.....(ระบุชนิดเครื่องมือ)........จำนวน .. ฉบับ  แบ่งออกเป็น .. ตอน คือ  .......(บอกชื่อแต่ละตอนเท่านั้นว่าเป็นแบบไหน มีกี่ระดับ อะไรบ้าง)..........


ตัวอย่างการเขียน

              เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

                     เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  จำนวน 1 ฉบับ แบ่งเป็น  3 ตอน คือ
                        ตอนที่  1  แบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม      
มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Check  List) 
                       ตอนที่  2 แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด   ตามกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน  มีลักษณะแบบสอบถามชนิดมาตรส่วนประมาณค่า(Rating Scale)  5  อันดับ  คือ  มากที่สุด  มาก  ปานกลาง  น้อย  และน้อยที่สุด
                        ตอนที่  3  ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษา  มีลักษณะเป็นแบบปลายเปิด (Open-ended form)

 
                            3.1.3  การสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
                                หัวข้อนี้  จะกล่าวถึงหลักการ ขั้นตอนการเขียนการสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยหรือรวบรวมข้อมูล ว่านักศึกษาคาดว่าจะสร้างเครื่องมือแต่ละชนิดประกอบด้วยขั้นตอนใดบ้าง มีหลักการใดบ้าง กำหนดว่าจะสร้างจำนวนเท่าใด ต้องการจริงเท่าใด มีลักษณะอย่างไร  เช่น สร้างแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า(Rating  Scale) 5 ระดับ สร้างจำนวน 20 ข้อ  ต้องการจริง 15 ข้อ เป็นต้นและการหาคุณภาพเครื่องที่ใช้ในการวิจัยนั้น จะใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเครื่องมือกี่คน ทดลองกับใคร จำนวนเท่าใด  จะใช้สูตรใดในการหาค่าอำนาจจำแนก หาความยาก หาค่าความเชื่อมั่น และมีการกำหนดเกณฑ์คุณภาพเครื่องมือที่ระดับใด ซึ่งในการเขียนการสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นขั้นตอนโครงร่างที่นักศึกษาจะคาดว่าทำและปฏิบัติตามขั้นตอนที่เขียนไว้เท่านั้น  แต่หลังจากนิสิตทำแล้วซึ่งจะเขียนเป็นวิทยานิพนธ์นั้น นิสิตต้องปรับเปลี่ยนข้อความใหม่  ซึ่งพบข้อบกพร่องมากในวิทยานิพนธ์ กล่าวคือ นักศึกษาไม่มีปรับเปลี่ยนยังคงใช้ข้อความเดิมที่เขียนไว้ในเค้าโครงวิทยานิพนธ์ แท้จริงและถูกต้องนั้น เมื่อนักศึกษาทำการสร้างจริง ตรวจสอบและทดลองไปใช้จริงแล้ว ผลที่ได้จะแตกต่างกัน ดังนั้นข้อความก่อนทำกับหลังต้องการแตกต่างกัน ตรงที่ต้องมีการนำเสนอผลการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและการทดลองใช้ว่า ได้ผลอย่างไร มีการปรับปรุงอะไรบ้าง เข้าเกณฑ์กี่ข้อ นำไปใช้จริงกี่ข้อ  นิสิต นักต้องพึงระวังในการเขียนการสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเค้าโครงวิทยานิพนธ์  สำหรับหลักการ  เกณฑ์การสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มีดังนี้
                                      3.1)   ก่อนลงมือเขียนขั้นตอนการสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  นิสิต ศึกษาควรศึกษารูปแบบการสร้างเครื่องมือชนิดนั้น ๆ ให้เข้าใจเพื่อความถูกต้องในการเขียน
                                      3.2)   ในขั้นการศึกษาเอกสารและงานวิจัย นักศึกษาควรระบุชื่อเอกสารที่ค้นคว้าให้ครบและชัดเจน ว่าเป็นของใคร ชื่อหนังสือ  พ.ศ. ที่พิมพ์ เช่น  ศึกษาเอกสารการสร้างแบบสอบถามจากหนังสือการวิจัยเบื้องต้นของบุญชม  ศรีสะอาด(2545 : 90-100)
                                      3.3)  กรณีที่เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ขั้นตอนการสร้างนักศึกษา  ควรสร้างตารางวิเคราะห์รายละเอียด(เนื้อหา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง) และระบุจำนวนข้อที่สร้างขึ้นและต้องการจริงเท่าใด  ตัวอย่างเช่น

ตาราง  1  เนื้อหา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  และจำนวนข้อที่สร้างขึ้นและใช้จริง

              ในแต่ละผลการเรียนรู้   ที่คาดหวังของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาเคมี

เนื้อหา
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
จำนวนข้อสอบ
สร้างขึ้น
ใช้จริง
สารประกอบไฮโดรคาร์บอน
1. เรียกชื่อและเขียนสูตรสารประกอบ
6
4
 
ของคาร์บอนประเภทต่าง ๆได้
 
 

 หมายเหตุ  ตารางนี้สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเครื่องมือชนิดอื่นได้ เช่น แบบสอบถาม แบบวัดความพึงพอใจ

                                      3.4)  การเลือกผู้เชี่ยวชาญพิจารณาความเที่ยงตรงนั้น  นักศึกษาควรเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นอย่างแท้จริง  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาให้ข้อเสนอแนะ ปรับปรุงเครื่องมือ ดังนั้นการเลือกผู้เชี่ยวชาญที่มีความเชี่ยวชาญ จะทำให้เครื่องมือมีคุณภาพด้วย ผู้เชี่ยวชาญควรมี 2 ประเภท ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผล
                                      3.5)  ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ในการตรวจสอบเครื่องมือ  นักศึกษาต้องเขียนระบุตำแหน่งทางวิชาการ  ตำแหน่งหรือหน้าที่การงาน สถานที่ทำงาน  เช่น   รศ.ดร.  บุญชม ศรีสะอาด  อาจารย์ภาควิชาการวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผล และกรณีเครื่องมือที่สร้างมีมากกว่า 1 ชนิดแต่ใช้คณะผู้เชี่ยวชาญชุดเดิม  การเขียนอธิบายในขั้นตอนการสร้างไม่ต้องเขียนรายละเอียดอีก ระบุข้อความ ผู้เชี่ยวชาญชุดเดิม ในขั้นตอนการสร้างเครื่องมือเท่านั้นพอ เช่น  นำเครื่องมือไปให้ผู้เชี่ยวชาญชุดเดิมตรวจสอบความถูกต้อง              
                                      3.6)  นักศึกษาต้องเขียนขั้นตอนการสร้างให้ชัดเจน ถูกต้อง เช่น กระบวนการสร้าง อธิบายค่าอำนาจจำแนก  วิธีหาความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรง  เพื่อให้ผู้อื่นอ่านแล้วเข้าใจง่ายกรณีที่ใช้เครื่องมือคนอื่นสร้างไว้มาใช้ ต้องระบุว่าเป็นของใคร สร้าง พ.ศ.ใด  และที่สำคัญเครื่องนั้นต้องทันสมัย มีความสอดคล้องกับเรื่องที่ทำและไม่ควรเกิน 5 ปี
                                     3.7)  เครื่องมือแต่ละชนิดที่สร้างขึ้น  ควรเขียนแสดงตัวอย่างลักษณะของเครื่องมือที่ใช้วัด  อธิบายวิธีการตรวจให้คะแนน  เกณฑ์การให้คะแนนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน  เช่น  มากที่สุด  ให้  5 คะแนน  หรือ คะแนนความคิดคล่องในการคิด พิจารณาคำตอบที่เป็นไปได้ในเงื่อนไขของข้อสอบถือว่าเป็นคำตอบที่เป็นไปได้ ให้คำตอบละ 1 คะแนน
                                      3.8)   การหาคุณภาพเครื่องมือเป็นรายข้อ (อำนาจจำแนก ความยาก) ให้ทดลองใช้ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างไม่น้อยกว่า 50 คน แล้วคัดเลือกข้อที่ดีไว้ใช้แล้วจึงหาคุณภาพทั้งฉบับ(ความเชื่อมั่น)
                                      3.9)  การเขียนขั้นทดลองใช้ นักศึกษาควรระบุให้ชัดเจนว่ากลุ่มที่ใช้ทดลองเป็นใคร  จำนวนเท่าใด  ทดลองวันที่เท่าใด

                   ตัวอย่าง   การเขียนการสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มีขั้นตอนการเขียนดังนี้

                                      1.  กำหนดจุดประสงค์ในการสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
                                     2.  ศึกษาเอกสาร  ทฤษฏีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ(เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย) จากหนังสือของ ..........................................
                                     3.  วางแผนการสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยนั้น ว่าจะสร้างกี่ข้อ  มีกี่ด้าน แต่ละด้านมีกี่ข้อ
                                     4.  สร้าง..(ระบุชื่อเครื่องมือ)...บอกลักษณะของเครื่องมือเป็นแบบใด  มีกี่ระดับ  มีกี่ด้านอะไรบ้าง สร้างขึ้นจำนวน...ข้อและต้องการจริง จำนวน .... ข้อ (อาจจะสร้างตารางวิเคราะห์รายละเอียดหรือไม่สร้างก็ได้)
                                   5.  นำ(ระบุชื่อเครื่องมือ)ที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญ (ระบุด้าน) พิจารณาตรวจสอบความเที่ยงตรง(เชิงประจักษ์) โดยพิจารณาว่าข้อความของเครื่องมือที่สร้างขึ้นนั้น  วัดได้(จุดประสงค์ นิยามศัพท์เฉพาะหรือเนื้อหาหรือไม่)แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนน อาจจะเป็น  +1 เมื่อแน่ใจวัดได้ตรงในด้านนั้น  0 เมื่อไม่แน่ใจว่าวัดได้ในด้านนั้น และ -1 เมื่อแน่ใจว่าวัดได้ไม่ตรงในด้านนั้น  และให้ระบุจำนวนผู้เชี่ยวว่ามีกี่คน ระบุตำแหน่งหน้าที่ สถานที่ทำงาน  และระบุผลการตรวจสอบ
                               ผลการตรวจสอบคุณภาพของ...(ระบุชื่อเครื่อง)  ... ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนเป็นรายข้อแล้วคำนวณค่าดัชนีความสอดคล้อง พบว่า ได้ดัชนีความสอดคล้องระหว่าง.....ถึง.....   
                          6.  แก้ไข...(ระบุชื่อเครื่อง).. ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำไปทดลองใช้(Try out) กับ .....(ระบุว่าเป็นกลุ่มใด) ... ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง  จำนวน...คน  
                          7.  วิเคราะห์คุณภาพของ...(ระบุชื่อเครื่องมือ)...
                               วิเคราะห์..(ระบุชื่อเครื่องมือ)..โดยคำนวณหาค่าอำนาจจำแนกรายข้อโดยใช้....(ระบุสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์).... ซึ่งได้ค่าอำนาจจำแนกเป็นรายข้อตั้งแต่....ถึง.....(ได้ค่าความยากเป็นรายข้อตั้งแต่....ถึง.....(ถ้ามี))และหาค่าความเชื่อมั่นของ..(ระบุชื่อเครื่องมือ)...โดยใช้....(ระบุสถิติที่ใช้)...ปรากฏว่าได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ...
                          8.  จัดพิมพ์..(ระบุชื่อเครื่องมือ)...ฉบับสมบูรณ์เพื่อนำไปใช้จริง (พร้อมแสดงตัวอย่างเครื่องมือ)

           
                                 3.1.4  การเก็บรวบรวมข้อมูล

                                      การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นกระบวนการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่ตอบสนองความมุ่งหมายของการวิจัย เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการวิจัยที่มีความสำคัญ  การเขียนขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลในเค้าโครงวิทยานิพนธ์นั้น  เป็นการบอกเรื่องราวของขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างว่านักศึกษามีขั้นตอนอย่างไรในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล  โดยปกติแล้ว จะประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ   การติดต่อขอหนังสือจากบัณฑิตวิทยาลัยของสถาบันตนเองเพื่อขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ติดต่อกับกลุ่มตัวอย่างและดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล  ซึ่งในขั้นนี้ต้องมีการเขียนอธิบายให้ชัดเจนตามเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ถ้าเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบทดสอบหรือแบบวัด ต้องเขียนรายละเอียด วัตถุประสงค์การทำแบบทดสอบหรือแบบวัด  การอธิบายวิธีการทำแบบทดสอบหรือแบบวัดและบอกระยะเวลาที่คาดว่าจะเก็บรวบข้อมูล(กรณีที่ระบุได้)  

 
ดังตัวอย่างการเขียนขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล

            ผู้วิจัยได้ดำเนินเก็บรวบรวมข้อมูล  ดังนี้
                1.       ติดต่อขอหนังสือจากบัณฑิตวิทยาลัย..............  เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง
2.       ติดต่อกับทางโรงเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง นัดวัน เวลา  เพื่อดำเนินการทดสอบ
3.       เตรียมแบบทดสอบและแบบวัดให้พร้อมที่จะทำการทดสอบแต่ละครั้ง
4.       อธิบายให้นักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเข้าใจในวัตถุประสงค์  และประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำแบบทดสอบ  และแบบวัด
5.       อธิบายวิธีการทำแบบทดสอบ  และแบบวัดให้เข้าใจเสียก่อนลงมือทำ
6.       ดำเนินการเก็บรวบรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ ...............ถึงวันที่
7.       นำผลที่ได้จาการทดสอบและวัดมาตรวจดูความสมบูรณ์ของการตอบ
แล้วจึงนำไปตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนที่อธิบายไว้หัวข้อการสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย


                            3.1.5  การวิเคราะห์ข้อมูล

                                 การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ หัวข้อการวิเคราะห์ข้อมูล   มักพบข้อบกพร่องในการเขียนทั้งนี้เนื่องจากนักศึกษา มักจะเขียนอธิบายวิธีการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วในขั้นนี้จะเขียนอธิบายการวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของการวิจัย  สมมติฐานของการวิจัยเท่านั้น ส่วนมากนักศึกษามักเข้าใจผิด เช่น ใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานวิเคราะห์แบบสอบถาม เป็นต้น ดังตัวอย่างการเขียน

 
   การวิเคราะห์ข้อมูล

            ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับ ดังนี้
               1.   หาค่าสถิติพื้นฐาน คือ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
               2.   วิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัย  โดยใช้โปรแกรม SPSS   for  Window 
  วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรพยากรณ์กับตัวแปรเกณฑ์

                            3.1.6  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

                                 ปกติแล้วหัวข้อนี้มักพบในงานวิจัยเชิงปริมาณ ส่วนงานวิจัยเชิงคุณภาพแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ หัวข้อเป็นหัวข้อสุดท้ายในการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เป็นการเขียนอธิบายหรือรวบรวมสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยทั้งหมด ว่าสถิติที่ใช้มีอะไรบ้าง  พร้อมสูตรสถิตินั้นที่ใช้ บางสถาบันอาจจะไม่มีการเขียนอธิบายสูตรสถิติ  เพียงอธิบายว่าใช้สถิติอะไรบ้างในการวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น  สำหรับการเขียนสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นประกอบด้วยสถิติ 3 กลุ่มด้วยกันคือ  1)  สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  2)  สถิติพื้นฐานและ3)  สถิติทดสอบสมมติฐาน  ซึ่งในหัวข้อนี้มักพบบกพร่องหลายประการคือ เขียนสูตรผิด  ไม่มีการอ้างอิงว่าเอามาจากไหน เขียนสถิติซ้ำซ้อน  ดังนั้นเพื่อลดข้อบกพร่องเหล่านี้มีหลักในการเขียน ดังนี้
                                      7.1)  เรียงลำดับหัวข้อสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลให้ถูกต้อง ปกติแล้วจะเริ่มด้วย สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  สถิติพื้นฐานและสถิติทดสอบสมมติฐาน ตามลำดับ
                                      7.2)  สถิติที่นำมาเขียนทุกตัวต้องมีอ้างอิงที่มาอย่างชัดเจน และถูกต้อง เช่น  หาค่าเฉลี่ยโดยใช้สูตร ดังนี้ (บุญชม  ศรีสะอาด. 2543 : 102)
                                    7.3)  สูตรที่นำเขียน ต้องเขียนอธิบายสัญลักษณ์ ให้ถูกต้องและชัดเจน
                                    7.4)  กรณีการหาค่าอำนาจำแนก ค่าความยากต้องระบุสถิติให้ชัดเจนว่าเป็นสูตรใด เพราะมีสถิติหลายตัวที่สามารถหาค่าเหล่านี้ได้และต้องมีความถูกต้องกับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยด้วย เช่น ถ้าเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม  สถิติที่ใช้ส่วนมากคือ t-test   หรือ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่าย  เป็นต้น

  

ตัวอย่างการเขียน

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

 

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  มีดังนี้

      1.  สถิติพื้นฐาน  ได้แก่  ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน


                2.  สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพของเครื่องมือในการวิจัย

                        2.1  หาคุณภาพของแบบสอบถาม

      2.1.1  วิเคราะห์หาค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์

แบบเพียรสัน (Pearson, sProduct- Morment Correlation)  ระหว่างคะแนนแต่ละข้อกับคะแนนรวม (Item- total Correlation)  โดยใช้สูตร ดังนี้(บุญชม  ศรีสะอาด. 2543 : 107)

                               2.1.2  วิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่นใช้สัมประสิทธิ์แอลฟา (-Coefficient) ของครอนบาค  โดยใช้สูตร ดังนี้ (บุญชม  ศรีสะอาด. 2543 : 96)

                   3.  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

3.1   ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่าย (Simple Correlation)  หรือสหสัมพันธ์

แบบเพียรสัน โดยใช้สูตร ดังนี้ (บุญชม  ศรีสะอาด. 2543 : 107)

 

 
-----------------------------------
 
* เมื่ออ่านแล้วท่านใดมีน้ำใจ ร่วมสร้างบล็อกวามรู้ร่วมกัน (น้อยมากตามศรัทธา) สามารถโอนเงินมาที่ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขามหาสารคาม   ชื่อบัญชี นายทองสง่า ผ่องแผ้ว      บัญชีเลขที่ 409-1920-845   
* น้ำใจที่ได้จากการท่าน ช่วยต่อลมหายใจทีมงานของบล็อกการวิจัยการศึกษาให้ยืนยาว และมีกำลังใจในการเสนอบทความ ความรู้ให้แก่นักศึกษา ครู และผู้สนใจต่อไป
 
 
 
 
 
 
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น